วิธีเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนซื้อต้องดูอะไรบ้าง

Last updated: 6 ต.ค. 2565  |  2948 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับเราแล้วหรือยัง? เป็นคำถามที่ใครหลายคนอาจจะกำลังสงสัย เพราะด้วยกระแสที่มาแรงของรถยนต์ไฟฟ้า และเสียงตอบรับที่ดี จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ คนกำลังคิดอยากจะเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า EV สักคัน

แต่ก่อนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน จะต้องดูจากปัจจัยอะไรบ้าง และเตรียมความพร้อมเรื่องไหนบ้าง เรามี 5 วิธีเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งานมาบอก

1. จุดประสงค์ของการใช้งาน

อันดับแรกที่เราต้องนึกถึง คือ จุดประสงค์ของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น

  • ขับไปทำงานออฟฟิศ ในเส้นทางเดิมประจำ
  • ขับไปเรียน
  • ขับไปรับ-ส่งลูก
  • ขับในเมืองเป็นหลัก
  • ใช้ขับทางไกล

แม้ว่าจริงๆแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ แต่ด้วยความที่จุดประสงค์การใช้งานรถยนต์ของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีตารางการใช้ชีวิตใน 1 สัปดาห์เหมือนกันเกิน 70% จะเข้าข่าย "ควรใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า" มากกว่า ซึ่งนั่นจะทำให้การวางแผนการชาร์จง่ายขึ้น และสามารถใช้งานรถแบบพลังงานเต็มเปี่ยม 100% ได้ทุก ๆ วัน


อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้า อาจจะไม่เหมาะกับคนที่เดินทางไกลบ่อย ๆ ในเส้นทางใหม่ ๆ เพราะแม้ว่าจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC Fastcharge จะครอบคลุมเส้นทางสายหลักแทบจะทั้งหมดแล้ว แต่ในเส้นทางสายรองนั้นยังไม่ค่อยมีจุดชาร์จแพร่กระจายเท่าที่ควรนั่นเอง

 

2. ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าคันที่เราต้องการ

นอกจากจุดประสงค์ของการใช้งานแล้ว อันดับต่อมาที่เราต้องคำนึงถึงนั่นคือ ประสิทธิภาพของตัวรถ ว่าตรงกับวัตถุประสงค์ หรือตอบโจทย์ตามความต้องการของเรามากน้อยเพียงใด เช่น

  • ดูว่าระยะการชาร์จมีระยะทางเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปของคุณหรือไม่
  • ดูความจุแบตเตอรี่ โดยปริมาณแบตเตอร์รี่นั้นก็เหมือนกับความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถเดินทางไกลบ่อย หรืออยากเผื่อใช้เดินทางไกลด้วย ก็ควรเลือกรุ่นที่มีความจุแบตเตอร์รี่สูงเอาไว้ก่อน รวมทั้งยังต้องมีเครื่องชาร์จแบตเตอรี่เอาไวเพื่อป้องกันแบตเสื่อม เนื่องจากรถไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ซึ่งจะเอาไว้จ่ายไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ
  • ขนาดมอเตอร์ขับเคลื่อน เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดเล็ก ข้อดีคือประหยัดพลังงานไฟฟ้า ส่วนข้อเสียคืออาจจะทำให้มอเตอร์ร้อนเร็ว ส่วนรถที่มีมอเตอร์ขนาดใหญ่ ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ มอเตอร์ใหญ่ กำลังก็เยอะตาม แต่ก็กินไฟเยอะตามไปด้วย ข้อดีคือรถจะมีกำลังเร่งแซงสบาย ๆ ใช้ขึ้น-ลงเขาได้ไม่มีปัญหา
  • ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่ จุดนี้จัดว่าสำคัญมาก ๆ เพราะการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าตลอดเวลานั้น จะก่อให้เกิดความร้อนที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในระดับหนึ่ง และความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นมากกับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ DC Fast charge ในรถยนต์ที่ระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยอากาศ ย่อมเสียเปรียบระบบระบายความร้อนด้วยน้ำอย่างมาก
  • ระยะเวลาในการชาร์จ ว่าใช้เวลามากน้อยเพียงใด

 

รถยนต์ไฟฟ้า

 

3. ออปชันที่ให้มากับตัวรถ

ในส่วนของออปชันก็ไม่ต่างจากรถยนต์แบบเดิมที่เราใช้งานกันเลย ซึ่งก็อาจจะต้องดูว่าหากจ่ายเงินเพิ่มแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม ซึ่งในส่วนนี้ก็แล้วแต่ความต้องการของท่านเองว่าต้องการอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น 

  • หลังคาซันรูฟ 
  • กล้องรอบคัน
  • ระบบ Adaptive Cruise Control
  • ระบบ Auto Pilot 
  • ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ
  • ระบบช่วยเหลือด้านความปลอดภัยต่าง ๆ เป็นต้น

 

หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

 

4. ดูเรื่องหัวชาร์จ

อีกหนึ่งจุดที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือหัวชาร์จ โดยวิธีการเลือก ให้เราคำนึงจาก "ตู้ชาร์จสาธารณะ" ว่าเค้าให้บริการหัวชาร์จแบบใดบ้าง ซึ่งในปัจจุบันนี้ตู้ชาร์จสาธารณะจะมีหัวชาร์จแบตเตอรี่ให้บริการอยู่ 3 แบบหลัก ได้แก่ 

  1. AC Type 2 หัวชาร์จกระแสสลับแบบมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% ทั่วทั้งโลกใช้หัวชาร์จที่รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 43 kW โดยตู้ชาร์จสาธารณะในประเทศไทย มักจะใช้กำลังการจ่ายไฟอยู่ที่ 22 kW โดยหัวชาร์จแบบ Wallcharge ที่ทางผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแถมให้ก็จะใช้หัวชาร์จมาตรฐานนี้ด้วยเช่นกัน 
  2. DC CCS2 หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบมาตรฐานยุโรป เป็นหัวชาร์จ DC ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากที่สุดในโลก ที่มักใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศจีน , ประเทศโซนยุโรป รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรฐานการชาร์จแบบ European Standard โดยหัวชาร์จประเภทนี้ รองรับการจ่ายพลังงานไฟฟ้าด้วยกระแสไฟฟ้าสูงสุด 350 kW โดยในประเทศไทย ตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 50-120 kW
  3. DC CHAdeMO หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบมาตรฐานญี่ปุ่น เป็นหัวชาร์จ DC ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโดยผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งจะพบได้กับรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ โดยหัวชาร์จประเภทนี้จะได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย ตู้ชาร์จที่มีหัวชาร์จประเภทนี้ในประเทศไทยมีอยู่ 2 แบรนด์เท่านั้น ได้แก่ ตู้ชาร์จของ PTT EV และ PEA Volta และมีให้บริการที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ญี่ปุ่นยี่ห้อนั้น ๆ ซึ่งหัวชาร์จ CHAdeMO รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 kW โดยในประเทศไทย ตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 50-60 kW

 

5. การรับประกันและบริการหลังการขาย

ในส่วนของบริการหลังการขาย รวมไปถึงของแถมต่างๆ ก็ไม่ต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมันทั่วไป โดยส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งที่เราต้องคำนึงเพิ่มมากขึ้นนั่นคือเรื่องของ "การรับประกันระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่" เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

ส่วนของแถมนั้น สิ่งที่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าควรได้แถมมา เปรียบเสมือนสิ่งที่ต้องให้ในกล่องมือถือเครื่องใหม่ นั่นคือ "สายชาร์จฉุกเฉิน และ Home Charger" โดยเฉพาะสายชาร์จที่สามารถชาร์จไฟฟ้าจากปลั๊ก 3 ตาทั่วไปได้ อันนี้จะถือว่าเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉินที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียว


ใครที่กำลังวางแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน เราหวังว่า 5 วิธีการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าข้างต้น อาจเป็นตัวช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันได้ตรงใจมากขึ้นนะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก : Autospinn

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้